โรคมะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นของคนไทย และเพื่อศึกษาหาวิธีพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ ทางกลุ่มวิจัยจึงสนใจศึกษา "Immunotherapy" หรือ "ภูมิคุ้มกันบำบัด" เป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ออกมาต่อสู้สิ่งแปลกปลอม สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก หรือคนไข้ที่มีผลข้างเคียงต่อการรักษาค่อนข้างรุนแรง โดยในงานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นไปที่โรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
Natural Killer Cell (NK Cell) หรือ เซลล์เพชฌฆาต เป็นเซลล์ที่จะคอยตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยสามารถทำงานได้เร็วในระยะเวลาอันสั้น และมีผลข้างเคียงน้อย แต่ข้อจำกัดของ "NK Cell" คือมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย และประสิทธิภาพบางประการยังไม่ดีพอเมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์ภูมิคุ้มชนิดอื่นๆ จึงได้มีการศึกษาและพัฒนาเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ในห้องปฏิบัติการ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ NK Cell โดยกระตุ้นการทำงานของ NK Cell ด้วยใช้ยาเคมีบำบัดหรือสารสกัดจากธรรมชาติ และการดัดแปลงพันธุกรรมของ NK cell
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษรา ปัญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่ (Adult-Onset ImmunoDeficiency: AOID)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีการติดเชื้อฉวยโอกาส มีผลการทดสอบ HIV เป็นลบและมีอัตราการเสียชีวิต 25% ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้สามารถตรวจพบ Anti-interferon gamma (anti-IFN-γ) ได้ในปริมาณที่สูง โดยวิธีการตรวจหา anti-IFN-γ วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ Enzyme-Linked Immunosorbent Assay (ELISA) ซึ่งมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน
ชุดทดสอบการตรวจหา Antibody ต่อ Interferon gamma
ในปัจจุบันการตรวจโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยผู้ใหญ่จะต้องส่งตัวอย่างจากพื้นที่ห่างไกลเข้ามาที่ส่วนกลางหรือผู้ป่วยต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อรับการตรวจ ซึ่งเป็นการเสียเวลาเป็นอย่างมาก ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะผลิตชุดทดสอบอย่างง่ายในรูปแบบ immunochromatographic strip test ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยได้เร็วขึ้น และแยกแยะความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ยังมีการผลิต IFN-γ ในปริมาณมากร่วมกับศูนย์เสริมสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากนวัตกรรม (MU Bio-Innovation) เพื่อใช้ในการรักษาในอนาคต พร้อมทั้งผลักดันให้ชุดทดสอบนี้ให้สามารถจำหน่ายจริงได้โดยมีความร่วมมือกับบริษัท i-MED
ศาสตราจารย์ ดร.ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา
ศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลเพื่อการรักษาและวินิจฉัย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ศุภชัย ศักดิ์ขจรภพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย
ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการสำรวจทางระบาดวิทยา พบว่า การมีระดับ cholesterol และ Low-density lipoprotein (LDL) cholesterol สูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความจำเพาะต่อการลดคอเลสเตอรอลในคนไทยผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง เป็นทางเลือกใหม่ในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่มีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยพบว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติก Lactobacillus paracasei มีคุณสมบัติในการเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก โดยสามารถสร้างเอนไซม์ที่สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้
มาร่วมเรียนรู้สาเหตุ แนวทางการป้องกัน และวิธีการรักษาภาวะระดับคอเลสเตอรอลในเลือดแบบสุขภาพดีได้ใน VDO เรื่อง Probiotics for high cholesterol patients
รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต
ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพองค์รวม โภชนเภสัณฑ์ และเวชสำอาง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย
ธาตุเหล็กเป็นโลหะทรานสิชันที่พบมากที่สุดในร่างกาย และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางชีวเคมีต่างๆ ของร่างกาย เช่น การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ เมตาบอลิซึม ในกรณีสภาวะที่มีเหล็กมากเกิน (iron overload) หรือในสภาวะที่สมดุลของเหล็กทำงานผิดปกติ หรือการเกิดความผิดปกติบางประการที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งจะพบเหล็กโมเลกุลเล็ก (labile iron) หรือที่เรียกว่า non-transferrin bound iron (NTBI)
NTBI นี้สามารถกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง NTBI ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดโรค แต่ก็จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้น คณะผู้วิจัย พบว่า แทนนิกมีศักยภาพในการจับกับ NTBI ได้ดี สามารถป้องกันผลที่เกิดจาก NTBI ต่อเซลล์ได้ และการใช้แทนนิกในการจับกับ NTBI สามารถติดตามผ่านการสร้างภาพด้วยเทคนิค magnetic resonance imaging (MRI) ได้ด้วย
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้ ซึ่งรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของแทนนิกด้วยกระบวนการเคมีสีเขียว โดยเลียนแบบปฏิกิริยาที่พบในสิ่งมีชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแทนนิกในการใช้งานจริง ทำการศึกษาการตรวจวัด NTBI รวมไปถึงประสิทธิผลของการรักษาในสัตว์ทดลอง โดยจะนำไปสู่การพัฒนาโมเลกุลจับเหล็กจากสารธรรมชาติ หรือสามารถพัฒนาเป็น Nutraceutical ที่สามารถมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังสามารถติดตามการรักษาด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพทางการแพทย์ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชัย ปิละพงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารังสีเทคนิค
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย