คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology: CEMB) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 (ระยะเปลี่ยนผ่าน) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันแกนนำของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้และความชำนาญระดับแนวหน้าของประเทศ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 สถาบัน มาร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์เพื่อการสร้างเสริมศักยภาพของประเทศด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตตัวยาชีววัตถุใหม่สำหรับการรักษาและชุดตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค โดยใช้หลักการทำวิจัยครบวงจร เริ่มที่ระดับ Basic Research (ต้นน้ำ) การพัฒนากระบวนการจัดทำผลิตภัณฑ์ (กลางน้ำ) ไปจนถึงการพัฒนาและขยายขอบเขตการผลิต ผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม และใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ (Translational Research) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศนอกจากนี้ยังร่วมมือกันผลิตบุคลากรในระดับต่างๆเพื่อเสริมศักยภาพทางด้านนี้ของประเทศทั้งงานวิจัยในภาครัฐในสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และการวิจัยการผลิตเชิงพาณิชย์ในภาคเอกชน
ในปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนายาชีววัตถุ (biologics) เพื่อใช้ในกระบวนการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ยาชีวภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคแบบจำเพาะเจาะจง (target therapy) ไปจนถึงวัคซีนใหม่ๆของทั้งมนุษย์และสัตว์สำหรับโรคระบาดรุนแรงและโรคอุบัติใหม่ ในทุกๆปีประเทศไทยมีการใช้ยาชีววัตถุในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยมีมูลค่าการนำเข้านับหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยาในประเทศยังมีความสามารถทางเทคโนโลยีสำหรับการผลิต active ingredient สำหรับยาในกลุ่มนี้ ต่ำมากแม้จะเริ่มมีบริษัทบางแห่งที่กำลังพัฒนาศักยภาพสำหรับการผลิต active ingredient ของยาชีววัตถุแต่ก็ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ศักยภาพด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการทำวิจัยและภาคการผลิต รวมไปถึงกฎระเบียบสำหรับการควบคุมมาตรฐานการผลิตยาในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ มหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทและพันธะกิจสำหรับการผลิตบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในภาคส่วนต่างๆ และสร้างงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทบทวนบทบาทและปรับของตนเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวเหล่านี้และควรมีแนวทางการดำเนินการในเชิงรุกและประสานงานความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน สถาบันวิจัย หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ที่มีการดำเนินการโดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนกลางจึงควรมีบทบาทที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาควิจัย ภาคอุตสาหกรรม และ องค์กรภาครัฐที่กำหนดนโยบายในการสนับสนุนและควบคุม เพื่อให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านสาธารณสุขให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (ศทพ.) มีพันธกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่
ศูนย์ฯ มีความต้องการดำเนินงานในลักษณะของภาคีสถาบันอุดมศึกษาและวิจัย (Inter-University Academic Consortium) ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมทางวิชาการของการทำงานร่วมกัน (New Academic Culture) เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) การประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) ตลอดจนการประหยัดจากความเร็ว (Economy of Speed) ของการดำเนินงาน และพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยของประเทศทดแทนการไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจที่จะขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันภาคีออกไปในภาคเอกชน โดยศูนย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัย และโจทย์วิจัยของบัณฑิตและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ของสถาบันภาคีที่นอกจากจะเน้นความเป็นเลิศด้านงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ในส่วนงานวิจัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีแล้วยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อการต่อยอดผลงานวิจัยพื้นฐานดังกล่าวให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตอบโจทย์อุตสาหกรรมยาของประเทศ ควบคู่ไปกับพัฒนาเครือข่ายงานวิจัย พร้อมกับกิจกรรมด้านการสนับสนุนงานวิจัยร่วมกับเอกชน ทางศูนย์มีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องได้แก่เทคโนโลยีชีวภาพด้านเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Biotechnology) เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยในสถาบันวิจัยและบุคลากรด้านการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว พร้อมทั้งประสานงานกับโรงงานต้นแบบด้านการผลิตชีววัตถุที่ได้มาตรฐานและมีอยู่ในประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อการฝึกและพัฒนาบัณฑิตให้มีประสบการณ์จริงกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากบทบาทด้านการพัฒนางานวิจัยและบุคลากรแล้วศูนย์ยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดการประสานงานระหว่างภาควิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆที่มีหน้าที่ที่เกียวข้องกับการผลิตยาชีววัตถุ รวมไปถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณะในรูปแบบการจัดประชุมวิชาการ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมกลุ่มย่อย การเสวนา และการให้ความรู้ผ่านสื่อสาธารณะ และเว็บไซต์เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกภาคส่วนที่เกียวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขแบบองค์รวม
รายชื่อตัวแทนมหาวิทยาลัย
รายชื่อเจ้าหน้าที่