ไทย | English
Cover

เกี่ยวกับศูนย์

ประวัติความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology: CEMB) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 (ระยะเปลี่ยนผ่าน) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันแกนนำของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้และความชำนาญระดับแนวหน้าของประเทศ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 สถาบัน มาร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์เพื่อการสร้างเสริมศักยภาพของประเทศด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตตัวยาชีววัตถุใหม่สำหรับการรักษาและชุดตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค โดยใช้หลักการทำวิจัยครบวงจร เริ่มที่ระดับ Basic Research (ต้นน้ำ) การพัฒนากระบวนการจัดทำผลิตภัณฑ์ (กลางน้ำ) ไปจนถึงการพัฒนาและขยายขอบเขตการผลิต ผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม และใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ (Translational Research) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศนอกจากนี้ยังร่วมมือกันผลิตบุคลากรในระดับต่างๆเพื่อเสริมศักยภาพทางด้านนี้ของประเทศทั้งงานวิจัยในภาครัฐในสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และการวิจัยการผลิตเชิงพาณิชย์ในภาคเอกชน

หลักการและเหตุผล

ในปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนายาชีววัตถุ (biologics) เพื่อใช้ในกระบวนการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ยาชีวภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคแบบจำเพาะเจาะจง (target therapy) ไปจนถึงวัคซีนใหม่ๆของทั้งมนุษย์และสัตว์สำหรับโรคระบาดรุนแรงและโรคอุบัติใหม่ ในทุกๆปีประเทศไทยมีการใช้ยาชีววัตถุในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยมีมูลค่าการนำเข้านับหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยาในประเทศยังมีความสามารถทางเทคโนโลยีสำหรับการผลิต active ingredient สำหรับยาในกลุ่มนี้ ต่ำมากแม้จะเริ่มมีบริษัทบางแห่งที่กำลังพัฒนาศักยภาพสำหรับการผลิต active ingredient ของยาชีววัตถุแต่ก็ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ศักยภาพด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการทำวิจัยและภาคการผลิต รวมไปถึงกฎระเบียบสำหรับการควบคุมมาตรฐานการผลิตยาในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ มหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทและพันธะกิจสำหรับการผลิตบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในภาคส่วนต่างๆ และสร้างงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทบทวนบทบาทและปรับของตนเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวเหล่านี้และควรมีแนวทางการดำเนินการในเชิงรุกและประสานงานความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน สถาบันวิจัย หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ที่มีการดำเนินการโดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนกลางจึงควรมีบทบาทที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาควิจัย ภาคอุตสาหกรรม และ องค์กรภาครัฐที่กำหนดนโยบายในการสนับสนุนและควบคุม เพื่อให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านสาธารณสุขให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

วัตถุประสงค์ และขอบเขตการดำเนินงาน (รวมทั้ง Research Direction/Focus)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (ศทพ.) มีพันธกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่

  1. การผลิตบุคลากรวิจัย
  2. การผลิตผลงานวิจัย
  3. การพัฒนาผลงานวิจัยให้เป็นนวัตกรรม
  4. การนำนวัตกรรมไปสู่ผลิตภัณฑ์
  5. การถ่ายทอดความรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน

ศูนย์ฯ มีความต้องการดำเนินงานในลักษณะของภาคีสถาบันอุดมศึกษาและวิจัย (Inter-University Academic Consortium) ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมทางวิชาการของการทำงานร่วมกัน (New Academic Culture) เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) การประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) ตลอดจนการประหยัดจากความเร็ว (Economy of Speed) ของการดำเนินงาน และพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยของประเทศทดแทนการไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจที่จะขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันภาคีออกไปในภาคเอกชน โดยศูนย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัย และโจทย์วิจัยของบัณฑิตและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ของสถาบันภาคีที่นอกจากจะเน้นความเป็นเลิศด้านงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ในส่วนงานวิจัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีแล้วยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อการต่อยอดผลงานวิจัยพื้นฐานดังกล่าวให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตอบโจทย์อุตสาหกรรมยาของประเทศ ควบคู่ไปกับพัฒนาเครือข่ายงานวิจัย พร้อมกับกิจกรรมด้านการสนับสนุนงานวิจัยร่วมกับเอกชน ทางศูนย์มีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องได้แก่เทคโนโลยีชีวภาพด้านเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Biotechnology) เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยในสถาบันวิจัยและบุคลากรด้านการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว พร้อมทั้งประสานงานกับโรงงานต้นแบบด้านการผลิตชีววัตถุที่ได้มาตรฐานและมีอยู่ในประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อการฝึกและพัฒนาบัณฑิตให้มีประสบการณ์จริงกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากบทบาทด้านการพัฒนางานวิจัยและบุคลากรแล้วศูนย์ยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดการประสานงานระหว่างภาควิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆที่มีหน้าที่ที่เกียวข้องกับการผลิตยาชีววัตถุ รวมไปถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณะในรูปแบบการจัดประชุมวิชาการ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมกลุ่มย่อย การเสวนา และการให้ความรู้ผ่านสื่อสาธารณะ และเว็บไซต์เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกภาคส่วนที่เกียวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขแบบองค์รวม

โครงสร้างศูนย์

Center of Excellence in Medical Biotechnology (CEMB)'s Structure

รายชื่อตัวแทนมหาวิทยาลัย

อ. ดร. นพ.พรนพ นัยเนตร
มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ. ดร. พญ.กนิษฐา ภัทรกุล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ. ดร. นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รศ. ดร. ภก.สุพัฒน์ จิรานุสรณ์กุล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ. สพญ.ธิดารัตน์ บุญมาศ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายชื่อเจ้าหน้าที่

ผศ. ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ
นางสาวตวงทิพย์ พูลกิจวัฒนา
เจ้าหน้าที่การเงิน
นางสาวโชติรส เทียนทองคำ
เจ้าหน้าที่บัญชี
นางสาวศิริขวัญ ไวยวรรณ์
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
นางสาวสิริลักษณ์ พวงประยงค์
เจ้าหน้าที่วิชาการ
นางสาวภัทรมน ไกรสมเด็จ
เจ้าหน้าที่วิชาการ
นางสาวปัญญดา โถวเจริญ
เจ้าหน้าที่วิชาการ